
สิ่งสำคัญภายในเขตวัดละหาร
พระประธาน
หน้าตักกว้าง ๖๑ นิ้ว ปางมารวิชัยประทับนั่ง ประดิษฐาน ณ อุโบสถหลังใหม่

พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย
หน้าตักกว้าง ๖๑ นิ้ว ปางมารวิชัยประทับนั่ง ประดิษฐาน ณ อุโบสถหลังเก่า

พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์
เป็นพระคู่วัด จัดสร้างพร้อมกับวัด มีอายุ ๒๐๐ปีเศษ สูง ๒ เมตรมีลิงถือรวงผึ้งและช้าง เป็นบริวาร ประดิษฐานในวิหารหลังใหม่

พระสีวลี พระอรหันต์ผู้บันดาลลาภผลและความอุดมสมบูณ์
ประดิษฐานหน้าวิหารหลังใหม่ พระสีวลี "แม้เพียงเอ่ยนามหรือสวดพระคาถารำลึกถึงพระสีวลีด้วยความเลื่อมใสลาภสักการะก็จักไหลมาสู่บุคคลผู้นั้นราวกับสายน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ทั้งปวงก็พลันบังเกิดขึ้น"

พระครูนนทปรีชา (เปลี่ยน ชุตินฺธโร) ทองทวี
รูปปั้นเหมือนอดีตเจ้าอาวาสวัดละหาร ในปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๕๑๔ ประดิษฐานอยู่ที่ชั้นล่างของวิหารหลังใหม่(วิหารหลวงพ่อป่าเลไลย์)

พระราชนันทมุนี (สำรวย อาภากโร) เกตุนาค
รูปปั้นเหมือนอดีตเจ้าอาวาสวัดละหาร ในปี พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๕๕ และอดีตรองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี ประดิษฐานอยู่ที่ชั้นล่างของวิหารหลังใหม่(วิหารหลวงพ่อป่าเลไลย์)

พระนาคปรก
ประดิษฐานที่หลังอุโบสถหลังเก่า เป็นพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ และมีพญานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป

พระอรหันต์ ๘ ทิศ
ประดิษฐอยู่รอบๆอุโบสถหลังใหม่
-
ทิศบูรพา
พระอรหันต์ประจำทิศ ได้แก่ พระอัญญาโกณทัญญะ ซึ่งเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นพระสงฆ์ผู้สำเร็จพระอรหันต์องค์แรก ถ้าท่านใดอยากเป็นผู้ชนะก่อนใคร โบราณถือว่าต้องบูชาพระจันทร์ก่อน เพื่อเสริมส่งให้มีเมตตามหานิยม ให้มีความสำเร็จก่อนผู้ใด ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นพระประจำวันจันทร์ (พระพุทธรูปยืน ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวาแบอยู่ระดับหน้าอก พระหัตถ์ซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว หรือพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบอยู่ระดับอก) แล้วได้จัดให้พระปริตบทยันทุน เป็นคาถาสวดสำหรับวันจันทร์ โดยสวด ๑๕ จบ เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความเจริญปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส ๘ ทิศ บทกระทู้ ๗ แบก สำหรับสวดภาวนาประจำวันจันทร์ คือ คาถา " อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา "
- ทิศอาคเนย์
พระอรหันต์ประจำทิศได้แก่ พระมหากัสสป เป็นพระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าพระอื่น ถือธุดงควัตร เป็นพระสงฆ์ที่มีร่างกายเสมอเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ มีร่างกายใหญ่โตมาก พระองค์จึงได้ประทานผ้าสังฆาฎิให้กับพระมหากัสสป ถ้าท่านใดอยากได้ความเป็นใหญ่ มีผู้คนยอมรับนับหน้าถือตาก็ควรบูชาพระอังคาร ซึ่งอยู่ประจำทิศอาคเนย์ตามคติทางพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ (นอน) เป็นพระประจำวันอังคาร และพระปริตบทขัดกรณียเมตตาสูตร เป็นคาถาสวดสำหรับพระอังคาร โดยสวด ๘ จบบูชา พระปางไสยาสน์ เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภ และคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส ๘ ทิศ บทเรียกฝนแสนห่า เป็นคาถาภาวนาประจำพระอังคาร คือคาถา " ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง "
- ทิศทักษิณ
พระอรหันต์ประจำทิศ ได้แก่ พระสารีบุตร ซึ่งเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศทางปัญญา แม้นกำเม็ดทราย ๑ กำมือ ก็สามารถนับได้ ถ้าผู้ใดอยากมีปัญญาเฉลียวฉลาด มีวาจาอ่อนหวานไพเราะ บริสุทธิ์ ก็ให้บูชาพระพุธ ซึ่งชุบมาจากคชสารตามคติทางพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธ (กลางวัน) และจัดให้สวดบทขัดพระปริตบทสัพพาสี เป็นคาถาสวดประจำสำหรับวันพุธ โดยสวด ๑๗ จบ เพื่อบูชาพระปางอุ้มบาตร เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส ๘ ทิศ บทนารายณ์เกลื่อนสมุทร เป็นคาถาประจำพระพุธด้วย คือ " ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท "
- ทิศหรดี
พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระอุบาลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะในด้านการทรงพระวินัย เปรียบอยู่ในกฏระเบียบ ซึ่งถ้าผู้ใดต้องการให้บุตรหลานอยู่ในระเบียบวินัยไม่หลงมัวเมาในอบายมุข ก็ควรบูชาพระเสาร์ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปนั่งปางนาคปรก และจัดคาถายะโตหัง เป็นคาถาบทสวดสำหรับพระเสาร์ โดยสวด ๑๐ จบ ตามกำลังวัน บูชาพระนาคปรกเพื่อจะได้ช่วยคุ้มกันอันตรายต่างๆ ช่วยให้เกิดโชคลาภ จะมีความสุขความเจริญ และเกิดความสวัสดี มีมงคลตลอดกาลนานและยังให้บทสวดพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ บทนารายณ์คลายจักร เป็นคาถาประจำพระเสาร์อีกด้วยคือ " โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ "
- ทิศปัจจิม
พระอรหันต์ประจำทิศ คือพระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอุปัฐาก เลขาส่วนตัวของพระพุทธเจ้า ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ก่อนตื่นนอนและหลังจำวัด แม้ว่าพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมเทศนาที่ใด ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ไป จะต้องกลับมาแสดงธรรมให้พระอานนท์ฟังโดยเฉพาะอีกครั้ง ผู้ใดอยากให้บุตรหลาน ฉลาด รอบรู้ หูตากว้างไกลก็ควรบูชาพระพฤหัส พระพฤหัสชุบมาจากฤาษี ๑๙ ตน ซึ่งมีความฉลาด หลักแหลม ปัญญา ดี รอบรู้ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปประจำวันพฤหัส และจัดให้สวดคาถา
บทขัดพระปริตบทปุเรนตัมโพ โดยสวด ๑๙ จบ ตามกำลังวันบูชาพระปางสมาธิ เพื่อจะช่วยคุ้มอันตรายต่างๆ และช่วยให้เกิดโชคลาภด้วย มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป และยังให้พระสวดพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ บทนารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพ เป็นคาถาประจำวันพฤหัสบดีด้วยคือ " ภะ สัม มัม วิ สะ เท ภะ "
- ทิศพายัพ
พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระควัมปติ หรือพระสิวลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในเรื่องโชคลาภ ซึ่งตรงกับนพเคราะห์คือ พระราหูซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวง มีอำนาจบารมีเป็นที่เกรงกลัว ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีโชคลาภ บารมีต้องบูชาพระราหู ให้คอยปกปักรักษาตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้จัดให้พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เป็นพระปางประจำราหู และกำหนดบทสวด บทกินนุ สัน ตะ ระมาโน วะ เป็นบทสวดประจำวันพุธกลางคืน ควรสวด ๑๒ จบ ตามกำลังวัน เพื่อบูชาพระปางป่าเลไลยก์ เพื่อคุ้มภัยให้สิ่งร้ายกลายเป็นดีและจะมีความสุขสวัสดี และได้จัดพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดินเป็นคาถาประจำราหู คือ " คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ "
- ทิศอุดร
ตรงกับพระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระโมคคัลลา ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตรงกับนพเคราะห์คือพระศุกร์ ผู้ใดอยากให้มีกิจการการค้ารุ่งเรือง ซื้อง่ายขายคล่อง พูดเป็นเงินเป็นทอง มีความสุขสบายในครอบครัวก็ควรบูชาพระศุกร์ตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้จัดให้พระพุทธรูปยืนปางทรงรำพึง พระหัตถ์ทั้งสองวางทับกันที่หน้าอก เป็นพระประจำวันศุกร์และได้จัดคาถาบทขัดธชัคคสูตร เป็นบทสวดประจำพระศุกร์ โดยสวด ๒๑ จบ ตามกำลังวันเพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภ คุ้มกันภัยอันตรายใดๆ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และยังได้จัดพระคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ บทตวาดฟ้าป่าหิมพานต์เป็นคาถาประจำวันศุกร์ คือ " วา โธ โน อะ มะ มะ วา "
- ทิศอีสาน
ตรงกับพระอรหันต์ คือ พระราหุล ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องของการศึกษา ใคร่ต่อการศึกษาเรียนรู้ ตรงกับนพเคราะห์คือพระอาทิตย์ ซึ่งชุบมาจากราชสีห์ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีปัญญาเฉียบแหลม สติปัญญาเป็นเลิศ มีฤทธิ์ มียศ ชื่อเสียงก็ควรจะบูชาพระอาทิตย์ และจัดให้พระปริตบทโมรปริต เป็นคาถาสวดสำหรับพระอาทิตย์ ควรสวด ๖ จบ ตามกำลังวัน เพื่อให้เกิดโชคลาภ คุ้มภัยอันตราย จะมีความเจริญรุ่งเรืองและความสุขสวัสดีตลอดกาล และยังได้จัดเอาคาถาพระอิติปิโส ๘ ทิศ บทนารายณ์แปลงรูปเป็นคาถาภาวนาสำหรับพระอาทิตย์ด้วยคือ " อะ วิ สุ นุต สา นุ ติ "

ภาพจิตรกรรมฝาผนังมหาเวสสันดรชาดก
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บรรยายเกี่ยวกับมหาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ภายในอุโบสถหลังใหม่
